Skip to main content

หน้าหลัก

รายงานสถานการณ์แรงงานระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

รายงานสถานการณ์แรงงานระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

 

สถานการณ์ทั่วไปในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

                   ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซมีสัดส่วนมูลค่าในผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (Global GDP) ถึงร้อยละ ๓ และมีอัตราการจ้างงานทั่วโลกประมาณ ๑๑.๙ ล้านตำแหน่ง

                   แนวคิดร้อยเท้าทางนิเวศน์ (Environmental Footprint)[1] ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซด้านการลดการปล่อยมลพิษ การปรับโครงสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน โดยประเทศอันเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซต่างถูกจับตามองจากประชาคมโลกว่า ได้มุ่งมั่นในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายของความตกลงปารีส[2]เพียงใด ดังนั้น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซจึงถูกบีบให้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ถึงขีดสุด ลดต้นทุนการผลิตในทุกทาง และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซหันมาใช้แรงงานหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด[3] และแหล่งพลังงานที่ไม่ทำลายภูมิอากาศโลก (Climate-neutral energy sources)

                   นอกจากประเด็นแนวคิดรอยเท้าทางนิเวศน์แล้ว อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรอีกด้วย การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการมีจำนวนประชาชนชั้นกลางจำนวนมากในประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economics) ส่งผลให้มีการบริโภคและมีความต้องการน้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ใน ค.ศ. ๒๐๕๐ การใช้พลังงานในทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ถึงร้อยละ ๕๐ ตราบใดที่ยังไม่มีการนำพลังงานจากแหล่งอื่นมาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต การผลิต และการบริการ น้ำมันและก๊าซก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักอันสำคัญของทั่วโลกต่อไป   

                   โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจ (เช่น การที่หลายประเทศรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ เพื่อเจรจาทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศหรือใช้สกุลเงินเดียวกัน) และเกิดการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี และข้อมูลแบบไร้พรมแดน แต่ในประเด็นพลังงานนั้นประเทศต่าง ๆ กลับดำเนินมาตรการอันแสดงออกถึงความเป็นชาตินิยมทางทรัพยากร (resource nationalism)[4]  มุ่งคุ้มครองอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซภายในประเทศ และลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของต่างประเทศ

                   ถึงแม้ทุกกิจการภาคการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าชต้องรับผิดชอบในการลด   การปล่อยมลพิษ เพื่อให้ประเทศอันเป็นที่ตั้งของกิจการสามารถบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสด้านการลดภาวะโลกร้อนได้ แต่ระดับภาระรับผิดชอบของกิจการภาคการผลิตในแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน แม้จะเป็นกิจการภาคการผลิตลักษณะเดียวกันและมีขนาดกิจการที่เท่ากันก็ตาม ตัวแปรสำคัญ คือ กฎหมายภายในด้านสิ่งแวดล้อม และปริมาณการลงทุนด้านพื้นฐานการลดการปล่อยมลพิษหรือการลดภาวะโลกร้อนของรัฐบาลแต่ละประเทศ ประเทศที่มีการลงทุนด้านพื้นฐานการลดการปล่อยมลพิษไว้เป็นอย่างดีแล้วย่อมเป็นการแบ่งเบาหรือช่วยลดภาระต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ

การดำเนินงานของ ILO

                   ILO ได้พิจารณาเห็นว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต้องมีการปรับตัวตามปัจจัยภายนอกหลายอย่าง ซึ่งจะส่งให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเงื่อนไขการจ้างงานและสภาพการทำงานในอนาคต ดังนั้น สมาชิก ILO ทั้งสามฝ่ายจึงควรร่วมกันหาทางให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็นไป ด้วยเหตุนี้ ILO จึงได้จัดการประชุมทางวิชาการเรื่อง อนาคตของงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน – ๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ เพื่อให้สมาชิก ILO ทั้งสามฝ่ายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล อภิปราย และแสดงความคิดเห็นในประเด็น

  • โอกาสและประเด็นท้าทายด้านงานที่มีคุณค่าในปัจจุบันและในอนาคตของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร และอื่น ๆ

  • นโยบายและมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ นโยบายและมาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินการให้สำเร็จเพื่อให้มั่นใจได้ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอนาคตของงานอย่างเป็นธรรม อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • แนวทางที่ปรากฏใน ILO Guidelines for a just transition towards environmentally sustainable economies and societies for all (2015)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำคำแนะนำเรื่อง อนาคตของงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบของ ILO และประเทศสมาชิก ILO ได้นำไปพิจารณาปฏิบัติตามความเหมาะสม

                   การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ ๘ คน และผู้แทนฝ่ายรัฐบาลจาก ๒๗ ประเทศ ได้แก่ อัลบาเนีย แอลจีเรีย แองโกลา อาเจนตินา ออสเตรเลีย โบลิเวีย บราซิล คาแมรูน ชาด โคลัมเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก คิวบา กินี กายอานา อินเดีย เลบานอน มอริเตเนีย นามิเบีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย นอร์เวย์ กาตาร์ เซเนกัล สเปน ตรินิแดดและโตเบโก ตุรเกีย และแซมเบีย โดยมี Ms. Vicki Erenstein Ya Toivo ที่ปรึกษาพิเศษ กระทรวงแรงงาน อุตสาหกรรมสัมพันธ์ และการมีงานทำ แห่งประเทศนามิเบีย เป็นประธานการประชุม

                   ผลจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล อภิปราย และแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์แรงงานในปัจจุบันของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

                   ประเทศอันเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต่างคำนึงถึงความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ตามความตกลงปารีส โดยหลีกเลี่ยงการทำลายธรรมชาติและไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ดีของมนุษย์ ความตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนทำให้หลายประเทศที่มีศักยภาพหันไปหาแหล่งพลังงานสะอาดอื่น (cleaner energy sources) มาใช้ทดแทนพลังงานจากน้ำมันและก๊าซ ภาคอุตสาหกรรมจึงลดการผลิตน้ำมันและก๊าซลง ซึ่งส่งผลให้มีการลดจำนวนคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ลง ทั้งนี้ การลดจำนวนคนทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะประเทศที่หันไปใช้แหล่งพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับประเทศที่ยังคงมุ่งเน้นการผลิตน้ำมันและก๊าซอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต่าง ๆ เปลี่ยนไปใช้แรงงานหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทดแทนแรงงานมนุษย์    

                   ในปัจจุบัน สภาพการทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซที่ต้องได้รับการปรับปรุงอย่างจริงจัง คือ

  • สภาพการทำงาน อันได้แก่ประเด็น ช่องว่างด้านค่าจ้างระหว่างแรงงานกึ่งฝีมือกับแรงงานระดับผู้เชี่ยวชาญ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และความเหนื่อยล้าจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปกติ

  • ความเท่าเทียมในการทำงาน อันได้แก่ประเด็น การปฏิบัติที่เท่าเทียมในการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่งและการได้รับการฝึกอบรม ค่าตอบแทนที่เท่ากันในงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ความรุนแรงและการล่วงละเมิด และการเลือกปฏิบัติ

  • อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน อันได้แก่ประเด็น การแก้ไขกฎหมายให้มีความเข็มงวด การตรวจแรงงานที่มีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับคนงานที่ทำงานกลางแจ้ง และความเหนื่อย-ล้าเกินขีดจำกัดของคนทำงาน

ประเด็นท้าทาย และโอกาสในการสร้างงานที่มีคุณค่าและยั่งยืน

                   การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซด้านการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการใช้แรงงานหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ส่งผลให้ไม่เกิดตำแหน่งงานใหม่ และทำให้ตำแหน่งงานหลายตำแหน่งได้หายไปจากอุตสาหกรรมนี้ โดย ILO คาดการณ์ว่า ในภายปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ความต้องการตำแหน่งงานในกิจการกลั่นน้ำมันดิบจะลดลงประมาณ ๑.๖ ล้านตำแหน่ง และในกิจการเปลี่ยนสภาพน้ำมันดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ จะลดลงประมาณ ๑๐๔ ล้านตำแหน่ง ตำแหน่งงานที่ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมนี้จะเป็นงานที่ใช้ทักษะระดับสูง ดังนั้น คนทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในปัจจุบันจำเป็นต้องยกระดับทักษะและฝีมือแรงงานของตนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมด้านการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาฝีมือแรงงาน และระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไว้สำหรับผู้ที่จะว่างงานในอนาคต

                   มาตรการต่าง ๆ ที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนำมาปฏิบัติเพื่อรองรับแนวคิดร้อยเท้าทางนิเวศน์ ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้และจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ถึงขีดสุด และมีแนวโน้มว่า ผู้ประกอบการจะลงทุนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อทดแทนกำลังคนเพิ่มขึ้น ตำแหน่งงานที่ยังคงอยู่จะต้องใช้ทักษะระดับสูงยิ่งขึ้นเพื่อทำงานกับระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะที่หลายประเทศประกาศนโยบายลด   การพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลซึ่งผลให้การผลิตน้ำมันและก๊าซจะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ ภาคการผลิตและบริการเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซจะค่อย ๆ ลดขนาดหรือปิดกิจการ อันจะส่งผลให้เกิดการว่างงานตามมา

                   ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องล้วนต้องพบกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ แบ่งได้ดังนี้

  • กลุ่มประเทศอันเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต้องเผชิญกับกระแสการลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและก๊าซ ซึ่งรัฐบาลต้องวางนโยบายและกรอบงานให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (a just transition) สำหรับคนทำงานและวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง
  • กลุ่มประเทศแหล่งทรัพยากรใหม่ของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต้องรับผิดชอบในการสร้างโอกาสในการจ้างงานให้มีมากที่สุดโดยงานนั้นต้องเป็นงานที่มีคุณค่า ทำให้วิสาหกิจมีความยั่งยืน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และปรับปรุงสภาพการทำงาน
  • ประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องพร้อมรับมือกับความต้องการแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตพลังงาน การจ้างงาน การหายไปของตำแหน่งงาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตามความต้องการของอุตสาหกรรมด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป และการออกแบบระบบความคุ้มครองทางสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน

ข้อแนะนำด้านการปฏิบัติงานในอนาคตสำหรับ ILO และประเทศสมาชิก

                   รัฐบาลและหุ้นส่วนทางสังคมมีภาระรับผิดชอบในการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในวิธีที่แตกต่างกันไปตามบทบาทหน้าที่ ผู้ประกอบการรับผิดชอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตั้งกิจการ และการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในกิจการของตนและกิจการอันเป็นห่วงโซ่อุปทานของกิจการตน โดยให้สอดคล้องกับ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights ปฏิญญาไตรภาคีของ ILO ว่าด้วยบรรษัทข้ามชาติและนโยบายทางสังคม และแนวทางสำหรับบรรษัทข้ามชาติของ OECD ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่กำหนดและบังคับใช้กฎหมายและระเบียบภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มั่นใจได้ถึงการปฏิบัติตามหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานและอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ ที่ได้ให้สัตยาบันไว้ และคุ้มครองคนทำงานทุกคนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

                   รัฐบาลควรเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการตรวจแรงงานและการบริหารจัดการแรงงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงกลไกการรับเรื่องร้องทุกข์และการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการน้ำมันและก๊าซที่ตั้งอยู่ห่างไกลและโดดเดี่ยว   

                   รัฐบาลควรจัดให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ยั่งยืน เพียงพอ และครอบคลุมทุกส่วน ซึ่งสามารถรับมือได้ดีกับเหตุฉุกเฉินและความเสี่ยงภัย สามารถคุ้มครองประชาชนและสถานประกอบการทั้งหมดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถเอื้อให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบดังกล่าวเป็นไปอย่างเป็นธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องได้รับผลกระทบในทางเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงนั้น  

                   รัฐบาลร่วมกับหุ้นส่วนทางสังคมควร

(ก)  มีการเจรจาทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน

(ข)  ส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมให้กับผู้หญิง ยุติการปฏิบัติที่มีอคติทางเพศสภาพ ยกเลิก การตั้งข้อจำกัดในการทำงานและโอกาสในความก้าวหน้าทางการงานของเพศหญิงในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซและอุตสาหกรรมด้านพลังงานอื่น ๆ และป้องกันและขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

(ค)  กำหนดนโยบายเชิงรุกด้านการมีงานทำที่เท่าเทียมและครอบคลุมทุกกลุ่มในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานอื่น ๆ รวมถึง การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในการรับสมัครงาน การเลื่อนตำแหน่งงานและการอบรม และการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ

(ง)   พัฒนา และ/หรือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายและกลยุทธด้านการพัฒนาทักษะฝีมือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

(จ)  ทำให้มั่นใจได้ว่า คนทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซทุกคน ไม่ว่าคนงานนั้นจะมีความสัมพันธ์ในการจ้างงานลักษณะใด ล้วนมีสภาพการทำงานที่มีคุณค่า มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ และได้รับการคุ้มครองทางสังคมแบบยั่งยืน เพียงพอ และครอบคลุมทุกส่วน

(ฉ)  เอื้อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแบ่งบันแนวปฏิบัติที่ดี และการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งควรกระทำโดยใช้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงนวัตกรรมและการร่วมทำงานในระดับชาติและระดับภูมิภาค ไปจนถึงการมีความร่วมมือระหว่างประเทศ   ความร่วมมือสามฝ่ายของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน 

                   สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศควร

  • ส่งเสริมการให้สัตยาบันอนุสัญญา และส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้ว ปฏิญญาต่าง ๆ ของ ILO ตราสาร และคู่มืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่สมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO ด้านการเคารพ การส่งเสริม และการตระหนักถึงคุณค่าของหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน
  • เสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่สมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO เพื่อให้สามารถพัฒนากลยุทธอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐกิจมหภาคและนำไปปฏิบัติได้ และสามารถเจรจาทางสังคมด้านการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและการจ้างงานที่มีผลิตภาพให้เต็มทุกตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ผ่านทางการประชุมระดับภูมิภาคและโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ
  • ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเจรจาทางสังคมอย่างเต็มที่ และใช้ประโยชน์จากการเจรจาทางสังคมในทุกรูปแบบและในทุกระดับ เพื่อสร้างโอกาสและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นไปอย่างเป็นธรรม
  • เก็บข้อมูลโดยจำแนกเพศ ทำการศึกษา และเผยแพร่สถิติและงานวิจัย เพื่อเป็นฐานข้อมูลเรื่อง งานที่มีคุณค่าและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม
  • ส่งเสริมนโยบายการมีงานทำที่ตอบรับกับเพศสภาพ เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทางเพศ และกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน
  • ให้คำแนะนำเชิงนโยบายและความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดงานที่มีคุณค่าและ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม และเพื่อสร้างโอกาสและจัดการกับประเด็นท้าทายในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงนวัตกรรมและการร่วมทำงานในระดับชาติและระดับภูมิภาค ไปจนถึงการมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือสามฝ่ายของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ
  • ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและความยึดโยงทางนโยบาย เพื่อให้เกิดความคืบหน้าด้าน การสร้างงานที่มีคุณค่าและการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

                   ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดเผยแพร่ทาง

https://www.ilo.org/sector/activities/sectoral-meetings/WCMS_824081/lang–en/index.htm

 

—————————————-

นางสาวอังคณา เตชะโกเมนท์

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

มกราคม ๒๕๖๖

 

[1] การมีตัวชี้วัดบ่งบอกหรือการมีหลักฐานที่สามารถสืบกลับไปหาจำนวนทรัพยากรธรรมชาติที่ได้ใช้ไปใน     การผลิตและจำนวนของเสียจากการผลิตที่ได้ปลดปล่อยลงสู่ธรรมชาติในแต่ละภาคอุตสาหกรรม

[2] สาระสำคัญโดยสรุป คือ ให้ประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน ๒ องศาเซลเซียส และกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ได้ต่ำกว่า ๑.๕ องศาเซลเซียสหากสามารถกระทำได้ โดยต้องยึดหลักความเป็นธรรม (equity) และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วย   โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศตามสภาวการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน

[3] เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ หรือพลังงานไฟฟ้า

[4] การกีดกันไม่ให้ประเทศอื่นเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศของตน รวมถึง การผูกขาด        การบริโภคและการลงทุนด้านทรัพยกรธรรมชาติไว้เฉพาะภายในประเทศ


812
TOP