- ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พ.ศ. ๒๕๔๕ และ พ.ศ. ๒๕๔๖ นั้น คณะกรรมการเสรีภาพในการสมาคม (Committee on Freedom of Association: CFA) ได้รับคำร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ถึงการกระทำของรัฐบาลเบลารุสอันเป็นการละเมิดหลักการด้านเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม โดยรัฐบาลเบลารุสปฏิเสธที่จะเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนต่าง ๆ กับคณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานประจำการประชุมใหญ่ (Conference Committee on the Application of Standards: CAS) ในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๙๐ พ.ศ. ๒๕๔๕
- ในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ ๙๑ พ.ศ. ๒๕๔๖ มีผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจากประเทศต่าง ๆ จำนวน ๑๔ คน[1] ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ ต่อ ILO กล่าวหาว่า รัฐบาลเบลารุสไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิใน การรวมตัว ค.ศ. ๑๙๔๘ และฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยมีพฤติกรรมร้ายแรงสรุปได้ ดังนี้
- เข้าแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมภายในของสหภาพแรงงาน อันได้แก่ การเลือกตั้งกรรมการสหภาพ การจัดประชุมสามัญประจำปี และการประชุมต่าง ๆ ของคณะกรรมการสหภาพแรงงาน ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ
- ออกกฎหมายที่มีบทบัญญัติอันเป็นการต่อต้านสหภาพแรงงาน
- ปฏิเสธการรับลงทะเบียนให้กับสหภาพแรงงานบางแห่ง
- ล่วงละเมิดและข่มขู่จะทำร้ายร่างกายสมาชิกสหภาพแรงงาน
- ละเลยให้นายจ้างกระทำการย้ายงานสมาชิกและผู้นำสหภาพแรงงานตามอำเภอใจ
- ละเลยให้นายจ้างสามารถยกเลิกหรือบังคับให้ผู้นำสหภาพแรงงานที่ได้รับเลือกตั้ง ลาออกจาก การเป็นคณะกรรมกรรมสหภาพแรงงาน
- ละเลยให้นายจ้างบังคับลูกจ้างลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
- ละเลยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและนายจ้างไม่อำนวยความสะดวกตามความจำเป็นให้แก่การทำกิจกรรมตามกฎหมายของสหภาพแรงงาน
- ยกเลิกการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าสมาชิกสหภาพแรงงาน
- แทรกแซงการใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากค่าสมาชิกสภาพแรงงาน
- ระงับบัญชีธนาคารของสหภาพแรงงาน
- ไม่ให้สิทธิองค์กรของลูกจ้างในระดับประเทศเข้าร่วมการประชุมไตรภาคีด้านแรงงานของประเทศ
- ไม่ปรึกษาหารือกับองค์กรผู้แทนระดับประเทศของลูกจ้างในการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเพื่อเข้าร่วมการประชุม ILC
- ที่ประชุมคณะประศาสน์การ (Governing Body: GB) สมัยที่ ๒๘๘ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖) พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐบาลเบลารุสไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานใด ๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ตามคำร้องเรียน จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมธิการไต่สวน (Commission of Inquiry: COI) ขึ้นทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล ให้คำเสนอแนะ และจัดทำรายงานส่งผู้อำนวยการใหญ่ ILO เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม GB พิจารณาต่อไป
- COI ได้แสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล และจัดทำรายงานส่งผู้อำนวยการใหญ่ ILO เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ โดยมีคำแนะนำสรุปได้ ดังนี้
- ให้รัฐบาลเบลารุสรับลงทะเบียนสหภาพแรงงานตามรายชื่อในคำร้องเรียนให้ครบทุกแห่งโดยเร็ว รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจัดหาพื้นที่สำหรับจัดตั้งสำนักงานของสหภาพแรงงานต่าง ๆ ด้วย
- ให้รัฐบาลเบลารุสแก้กฎหมายที่กำหนดให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบการเดียวกัน
- ให้ยกเลิกคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน โดยให้เปลี่ยนเป็นการรับจดทะเบียนเพื่อรับรองสถานะสหภาพแรงงานแทน (ภาครัฐไม่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต การขึ้นทะเบียนสหภาพแรงงาน เพียงแต่มีหน้าที่พิจารณารับจดทะเบียนให้สหภาพแรงงานเท่านั้น)
- ให้รัฐบาลจัดทำหลักปฏิบัติด้านการยอมรับสิทธิในการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานและ ข้อห้ามการปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิดังกล่าว และประกาศโดยเร็วต่อสาธารณชนอย่างทั่วถึงและชัดเจน
- ให้รัฐบาลคุ้มครองและรับประกันเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรต่าง ๆ ตามรายชื่อใน คำร้องซึ่งได้ถูกละเมิดสิทธิและแทรกแซงกิจการภายในไปแล้ว การละเมิดสิทธิใด ๆ เพิ่มเติมต่อองค์กรในรายชื่อจะถือเป็นกรณีร้ายแรงที่ต้องเข้าสอบข้อเท็จจริงในทันที
- ให้รัฐบาลออกข้อปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับนายจ้าง เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะถือได้ว่า เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำสหภาพแรงงาน
- ให้มีการสอบข้อเท็จริงโดยทันทีจากองค์กรอิสระต่อกรณีการเลือกปฏิบัติอันเป็นการต่อต้านสหภาพแรงงานตามที่ปรากฏในคำร้องเรียน
- ให้รัฐบาลกำหนดวิธีดำเนินงานที่มีประสิทธิผลด้านการคุ้มครองให้พ้นการกระทำใด ๆ อันเป็น การต่อต้านสหภาพแรงงาน อันรวมถึง ความคุ้มกันกรรมการสหภาพแรงงานจากการถูกควบคุมตัวโดยคำสั่งทางการปกครอง
- ให้รัฐบาลเบลารุสแก้ไขกฎหมายที่ขัดขวางสหภาพแรงงานไม่ให้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ
- ให้รัฐบาลเบลารุสแก้ไขกฎหมายที่ขัดขวางนายจ้างหรือลูกจ้างจากการใช้สิทธิรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิประโยชน์อันควรได้ของตน
- ให้รัฐบาลรับประกันว่า จะไม่จำกัดสิทธิของผู้แทนสหภาพแรงงานในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก National Council on Labour and Social Issues
- ให้รัฐบาลทำการทบทวนและปรับปรุงระบบแรงงานสัมพันธ์ภายในประเทศ
ทั้งนี้ ให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการตามคำแนะนำข้อ ๑-๖ ข้อ ๙ และข้อ ๑๑ ในทันที โดยควรแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘
- ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เสนอรายงานของ COI ต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๒๙๑ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗)
- ที่ประชุม GB ได้ติดตามผลการปฏิบัติของรัฐบาลเบลารุสตามคำแนะนำของ COI อย่างสม่ำเสมอ
- CFA ได้เสนอรายงานฉบับที่ ๓๙๘ ต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๔ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๕) เพื่อแจ้งเกี่ยวกับคำร้องเรียนกล่าวหารัฐบาลเบลารุสละเมิดอนุสัญญาที่ ๘๗ และฉบับที่ ๙๘ เพิ่มเติม และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะคำแนะนำที่ COI ระบุกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ในการนี้ มีคำร้องเรียนที่ CFA พิจารณาว่า เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานตามอนุสัญญา ๘๗ และ ๙๘ อย่างชัดเจน คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มเหตุที่สามารถเอาผิดกับผู้ชุมนุมในที่สาธารณะได้มากขึ้น และเพิ่มบทลงโทษต่อผู้ชุมนุมในที่สาธารณะที่รุนแรงขึ้น รวมถึง การยังคงกักขัง นักกิจกรรมสหภาพแรงงานที่ชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างทำการเจรจาต่อรองร่วมกับลูกจ้าง และ การปฏิเสธไม่ส่งรายละเอียดข้อมูลการดำเนินคดีและคำพิพากษาของศาลในกรณีที่เกี่ยวข้องให้กับ CFA ตามคำร้องขอ
- ที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๖ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๕) ได้รับทราบกรณีรัฐบาลเบลารุสไม่ส่งข้อเท็จจริงใด ๆ เกี่ยวกับการคุมขังนักกิจกรรมสหภาพแรงงานจำนวน ๒๓ คนตามคำขอของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ศาลฎีกาของเบลารุสมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๕ ให้ยุบสหภาพแรงงานจำนวนมาก และการไม่มีความคืบหน้าด้านการปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI ด้วยเหตุนี้ GB จึงมีมติสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(เอ) ขอตำหนิรัฐบาลเบลารุสที่ไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามคำแนะนำใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ของ COI
(บี) เรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสเคารพเสรีภาพในการสมาคมในทุกรูปแบบของลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกกฎหมายที่กระทบต่อความเป็นอิสระของสหภาพแรงงานหรือขององค์กรของนายจ้าง
(ซี) เรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสปล่อยตัวผู้นำแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานที่ร่วมการชุมนุมโดยสงบ และยุติการตั้งข้อกล่าวหาต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว
(ดี) เรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสอนุญาตให้ ILO เข้าตรวจสอบโดยเร่งด่วนต่อกรณีการคุมขังผู้นำแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานข้างต้น
(อี) รับทราบการตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ ของประเทศเบลารุส โดยที่ประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ (Committee of Experts on the Application of Conventions and Recommendations: CEACR) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๖๕
(เอฟ) เรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสส่งข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินไปตามคำแนะนำของ COI เพื่อให้ CFA ประชุมพิจารณาในเดือนมีนาคม ๒๕๖๖
(จี) มอบผู้อำนวยการใหญ่ ILO จัดทำเอกสารเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ภายใต้มาตรา ๓๓[2] แห่งธรรมนูญ ILO และมาตรการอื่น ๆ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลเบลารุสจะปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI เพื่อเสนอต่อที่ประชุม GB สมัยที่ ๓๔๗ (เดือนมีนาคม ๒๕๖๖)
(เอช) บรรจุหัวข้อด้านมาตรการต่าง ๆ ภายในมาตรา ๓๓ แห่งธรรมนูญ ILO อันสามารถทำให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลเบลารุสจะปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI เข้าเป็นวาระในการประชุม ILC สมัยที่ ๑๑๑
- ที่ประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ ๑๑๑ ลงคะแนนเสียงรับรองข้อมติเกี่ยวกับมาตรการที่แนะนำโดยคณะประศาสน์การภายใต้มาตรา ๓๓ แห่งธรรมนูญ ILO ต่อกรณีของเบลารุส (Resolution concerning the measures recommended by the Governing Body under article 33 of the ILO Constitution on the subject of Belarus) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- ให้มีการจัดประชุมวาระพิเศษของ CAS ขึ้นในอนาคต เพื่อพิจารณาการปฏิบัติของรัฐบาลเบลารุสตามอนุสัญญาฉบับที่ ๘๗ และฉบับที่ ๙๘ และคำแนะนำของ COI
- ขอให้สมาชิกทั้งสามฝ่ายของ ILO ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างพิจารณา
(เอ) ทบทวนความสัมพันธ์ใด ๆ ที่มีกับประเทศเบลารุส และดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลเบลารุสไม่สามารถนำความสัมพันธ์นั้นมาใช้ในทางละเมิดเสรีภาพในการสมาคม และความสัมพันธ์นั้นมีส่วนช่วยให้รัฐบาลเบลารุสปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI รวมถึงช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการส่งเสริมเสรีภาพในการสมาคม
(บี) เคารพหลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (non–refoulement) ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้นักกิจกรรมสหภาพแรงงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีในเบลารุส
(ซี) จัดทำรายงาน (การดำเนินการตามข้อ เอ และ บี ข้างต้น) แจ้งต่อผู้อำนวยการใหญ่ ILO สำหรับเสนอ GB พิจารณาต่อไป
- ขอให้ผู้อำนวยการใหญ่ ILO
(เอ) แจ้งให้องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ทราบถึง การที่รัฐบาลเบลารุสไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI
(บี) เรียกร้องให้องค์คณะต่าง ๆ ขององค์กรระหว่างประเทศข้างต้น พิจารณายุติความร่วมมือ ใด ๆ ที่มีกับรัฐบาลเบลารุสในอันที่จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้รัฐบาลเบลารุสไม่เคารพสิทธิของสหภาพแรงงานในประเทศ
(ซี) เข้าร่วมดำเนินงานกับผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในเบลารุสด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิในการรวมตัวโดยสงบและเสรีภาพในการสมาคม และด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและนักกฎหมาย
(ดี) เข้าร่วมดำเนินงานกับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนนักกิจกรรมสหภาพแรงงานชาวเบลารุส
(อี) รายงานให้ GB ทราบอย่างสม่ำเสมอถึงผลการดำเนินมาตรการตามข้อ ๓ (เอ) (บี) และ (ซี) ข้างต้น
- เรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสยอมรับการดำเนินงานต่าง ๆ ในเบลารุสของคณะผู้แทนไตรภาคี ILO (ILO tripartite mission) ซึ่งรวมถึงการเข้าเยี่ยมนักกิจกรรมและผู้นำสหภาพแรงงานที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
—————————————————-
ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
กรกฎาคม ๒๕๖๖
ที่มาของข้อมูล
https://www.ilo.org/public/english/standards/relm/gb/docs/gb291/index.htm
https://www.ilo.org/public/english/standards/relm/gb/docs/gb291/pdf/ci-belarus.pdf
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_norm/—relconf/documents/meetingdocument/wcms_839948.pdf
https://www.ilo.org/gb/GBSessions/GB344/ins/WCMS_839948/lang–en/index.htm
[1] Sir Roy Trotman (Barbados), Mr. Khurshid Ahmed (Pakistan), Ms. Hilda Anderson Navarez (Mexico), Mr. William Brett (United Kingdom), Ms. Barbara Byers (Canada), Ms. Mia De Vits (Belgium), Mr. Ulf Edström (Sweden), Ms. Ursula Engelen-Kefer (Germany), Mr. Adams A. Oshiomhole (Nigeria), Mr. Ebrahim Patel (Republic of South Africa), Mr. Zainal Rampak (Malaysia), Mr. M.V. Shmakov (Russian Federation), Ms. Halimah Yacob (Republic of Singapore) and Mr. Jerry Zellhoefer (United States of America)
[2] มาตรา ๓๓ กำหนดให้ในกรณีที่ประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ COI หรือของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ GB เสนอมาตรการที่จะนำมาดำเนินการกับประเทศสมาชิกนั้นต่อที่ประชุมใหญ่ ILC เพื่อพิจารณาเห็นชอบได้