เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 สหภาพยุโรป (European Union : EU) ประกาศข้อกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานตามฤดูกาลจากประเทศที่สาม (ประเทศซึ่งไม่ใช่สมาชิก EU) ตีพิมพ์ใน Official Journal ซึ่งเป็นวารสารทางการของ EU พร้อมระบุให้ประเทศสมาชิก EU ซึ่งมีทั้งหมด 28 ประเทศนำข้อกฎหมายใหม่ไปปรับใช้กับกฎหมายและระเบียบของแต่ละประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2559 ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานตามฤดูกาลในหลายประเทศที่เป็นสมาชิก EU คือ
1. ระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 เดือนและไม่เกิน 9 เดือน (ในรอบ 12 เดือน) ลักษณะงานที่ทำต้องมีสภาพเป็นงานตามฤดูกาล เช่นการเกษตร การทำสวน สามารถขอต่อสัญญาการทำงานกับนายจ้างเดิมหรือกับนายจ้างใหม่ได้ แต่ระยะเวลาทำงานต้องไม่เกิน 9 เดือน ซึ่งการต่อสัญญาหรือทำสัญญากับนายจ้างใหม่ ต้องเป็นความยินยอมของแรงงาน โดยแรงงานตามฤดูกาลมีโอกาสได้รับการคุ้มครองจากประเทศผู้รับ ในการอนุญาตให้พำนักชั่วคราวหรือทำงานชั่วคราวในระหว่างรอการอนุญาตให้ต่อสัญญาหรือทำสัญญาใหม่หากผลการพิจารณาอนุญาตของหน่วยงานล่าช้าและส่งผลให้เลยกำหนดพำนักในประเทศ
2. แรงงานที่เคยได้รับอนุญาตให้ทำงานตามฤดูกาลและไม่มีประวัติการกระทำผิดสัญญาหรือผิดข้อกำหนด สามารถขอเดินทางกลับเข้าไปทำงานในประเทศเดิมอีกได้ภายในระยะเวลา 5 ปีโดยอาจได้รับสิทธิพิเศษเช่น การลดจำนวนเอกสารที่ต้องยื่น การลดขั้นตอนการพิจารณาให้ใบอนุญาตทำงานหรือวีซ่า ทั้งนี้ อยู่ในดุลพินิจของประเทศผู้รับ
3. ตัวกฎหมายส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทำงานตามฤดูกาลที่เป็นธรรมและเหมาะสม และสนับสนุนให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายซึ่งอาจรวมถึงค่าเดินทางไปกลับของแรงงานและการทำประกันการเจ็บป่วยของแรงงานด้วย
4. แรงงานมีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน การเดินทาง เงื่อนไขในการทำงาน เช่น สภาพการจ้าง อายุขั้นต่ำ ค่าจ้าง การให้ออกจากงาน ชั่วโมงทำงาน วันหยุด สุขอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน สิทธิ์ในการสไตร๊ค์หรือร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่กฎหมายของประเทศนั้นกำหนด การรับสิทธิ์ประกันสังคม (ตามกฎหมายกำหนดโดยไม่รวมประกันการว่างงาน หรือสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมถึงครอบครัวของแรงงาน) สิทธิ์การเข้าถึงสินค้าและบริการ (ยกเว้นด้านที่พักอาศัย) สิทธิ์ด้านการรับคำปรึกษาจากหน่วยจัดหางาน การรับการศึกษาหรือฝึกอบรม (ที่ไม่ใช่การรับทุน) การรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายกำหนด)
5. ประเทศผู้รับต้องจัดให้แรงงานมีที่พักที่เหมาะสม มีมาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัย ซึ่งอาจจัดหาให้โดยนายจ้างโดยการเรียกเก็บค่าเช่าซึ่งต้องเหมาะสมตามสภาพที่พักและเงินเดือนของแรงงาน มีการจัดทำสัญญาเช่าหรือเอกสารแสดงการเช่าที่ระบุเงื่อนไขชัดเจน
6. แรงงานมีสิทธิ์ยื่นข้อร้องเรียนนายจ้างด้วยตนเองหรือผ่านตัวแทน โดยได้รับการคุ้มครองการตอบโต้ของนายจ้างอันเนื่องมาจากข้อร้องเรียน ทั้งนี้ ต้องศึกษากฎหมายเฉพาะของประเทศที่ไปทำงานประกอบ
ฝ่ายแรงงาน
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
เมษายน 2557